Saturday, October 13, 2012

เลือกใช้หลักสูตรโฮมสคูลแบบไหนดี

หลักสูตรที่
แม่ส้ม   20 กค 48

1. ใช้หลักสูตรจากชุดตำราสำเร็จรูปมาตรฐาน

ข้อง่าย
  • ครอบครัวเกิดความสบายใจว่าลูกได้เรียนตามมาตรฐาน ได้ความรู้ทางวิชาการเท่ากับเด็กในระบบโรงเรียน
  • เนื้อหาเรียงตามลำดับบทอยู่แล้ว ทำให้จัดตารางเรียน และเตรียมการสอนได้ง่าย
  • เนื้อหามีความต่อเนื่อง 
  • พ่อแม่มีความคุ้นเคย เพราะเติบโตมากับหลักสูตรตำราแบบนี้
  • ตำราเรียนมาตรฐานทำให้ประเมินและสอบเก็บคะแนนได้ง่าย
  • ตำราเรียนส่วนมากมีชุดข้อสอบมาให้อยู่แล้ว  จึงทำให้ง่ายต่อการเก็บคะแนนสำหรับการประเมิน และง่ายต่อการยื่นแสดงผลการเรียนให้กับหน่วยการศึกษาที่แจ้งจดชื่อเด็กไว้
  • ตำราสำเร็จรูปเหมาะกับเด็กมัธยม  ซึ่งมีเป้าประสงค์ในใจตัวเองแล้วว่าต้องไปสอบเข้าเรียนต่อสถาบันในระบบ  และเป็นวัยที่ต้องการความรู้ที่เป็นสากลมากขึ้น

ข้อยาก
  • เด็กส่วนใหญ่จะเบื่อ และไม่ชอบตำราเรียนสำเร็จรูป  เพราะขาดแรงบันดาลใจ และไม่สนุก
  • ทำให้เด็กขาดความคิดสร้างสรรค์ และไม่ท้าทายความใฝ่รู้
  • พ่อแม่อาจจะเครียด หากลูกไม่สนใจเรียนเพราะเบื่อ
  • พ่อแม่อาจใช้การบังคับ หรือทำโทษ เมื่อเด็กปฏิเสธตำราสำเร็จรูป
  • ตำราเรียนสำเร็จรูปไม่เหมาะกับเด็กเล็กและเด็กประถม เพราะเป็นวัยที่ยังต้องการค้นหาความรู้จากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ต้องการความรู้สดๆที่มีชีวิตชีวา และสัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน  อีกทั้งความสนใจใคร่รู้ของเด็กวัยนี้ล้วนมาจากแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน 
  • ตำราเรียนชุดมาตรฐานมีราคาแพง (หากต้องซื้อทั้งชุดทุกวิชา)


2. ใช้หลักสูตรบูรณาการชีวิต  โดยอาศัยวิถีชีวิต-สิ่งแวดล้อม-สถานการณ์ เป็นทรัพยากรและเครื่องมือในการเรียนรู้

ข้อง่าย
  • เด็กสนุก มีความสุขกับการเรียน
  • มีแรงบันดาลใจ  เกิดความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการมากมาย
  • เด็กได้ฝึกการค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ ความรู้ด้วยตนเอง อันเป็นฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • ทำให้การเรียนในแต่ละวันไม่น่าเบื่อ ทั้งพ่อแม่เองก็ได้ความรู้ใหม่ๆ ทุกวัน  กลายเป็นโรงเรียนครอบครัว
  • เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน และผู้คนหลากหลาย ทำให้พัฒนาทักษะทางสังคมอย่างเป็นธรรมชาติ 
  • ทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจในตัวเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก
  • ประหยัด หากพ่อแม่รู้จักปรับประยุกต์ทุกสถานการณ์ให้เป็นการเรียนรู้


ข้อยาก
  • ถ้าพ่อแม่ชอบมีตารางเรียนที่ตายตัว  อาจจะไม่เหมาะกับการเรียนแบบนี้ เพราะกิจกรรมในแต่ละวัน  ต้องการความยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้า
  • ครอบครัวที่ไม่คุ้นเคยกับการเรียนแบบนี้ อาจจะทำให้ไม่สบายใจและกังวล   โดยเข้าใจว่าเด็กไม่ได้รับความรู้ทางวิชาการเท่ากับเด็กอื่น ๆ ในโรงเรียนทั่วไป
  • หากต้องมีการเดินทางบ่อย  ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
  • การเรียนแบบนี้ไม่มีข้อสอบ  หรือบทเรียนสำเร็จรูป  ดังนั้นการเก็บผลการเรียน จึงต้องทำการบันทึกอย่างละเอียด  หรือเก็บเป็นรูปถ่าย  หรือวีดีทัศน์  พ่อแม่ต้องขยันบันทึกและสรุปการเรียนรู้ของลูกทุกวันหรือทุกสัปดาห์
  • หากพ่อแม่ไม่มีทักษะในการเรียบเรียงสิ่งที่ลูกเรียนให้ออกมาเป็นข้อเขียนทางวิชาการ   อาจทำให้ยากต่อการติดต่อขอเทียบโอนกับหน่วยงานการศึกษาของรัฐ

 3.  ผสมผสานทุกแบบเข้าด้วยกัน

ข้อดี
  • เป็นการเดินทางสายกลาง

ข้อยาก
  • ต้องเข้าใจภาพรวมของความรู้ของเด็กแต่ละช่วงวัย  และจัดสัดส่วนของแต่ละวิธีให้เหมาะสม